สะกิดๆ ท่าพิเศษ ท่ามาตรฐาน ท่าไม้ตาย และ อื่นๆ (เป็นเหตุเป็นผลดีจริงมั้ย)?

กันยายน 2, 2009

เมื่อวานประชุมทีซิสก็ทำให้คิดอะไรได้แบบหนึ่ง อาจเป็นคำถามที่เก่าแล้ว หรือว่าเมื่อมาถึงจังหวะหนึ่งของชีวิต (วัยรุ่น) ก็ต้องเจอ ;])

คำถามเกี่ยวกับท่าต่างๆ ในการทำงานสถาปัตยกรรม ท่าต่างๆนี่ตอนผมเรียนจะมีคนพูดกันในชื่อว่า experimental design (ตอนนั้นก็ร่วมขบวนไปด้วย) แต่ก็ได้ตั้งคำถามกับตัวเอง (ในเวลานั้น) ไอ้ทดลองนี่มันคืออะไร คิดไปคิดมาก็ได้คำตอบและความเชื่อแบบดื้อๆ ว่า ไม่มีหรอกสถาปัตยกรรมทดลอง เพราะว่าสถาปัตยกรรมต้องมีคอนเซปต์อยู่แล้ว จะซับซ้อนแค่ไหน มันก็ออกมาเป็นสถาปัตยกรรมอยู่ดี ไม่มีหรอก สถาปัตยกรรมทดลอง คำว่าทดลองอาจจะเกิดมาจากการคิดที่ไม่ยอมจบลงมาเป็นกายภาพมากกว่า

เวลาผ่านไป เมื่อผมเปลี่ยนมาเป็นผู้สอนคำถามนี่ก็วนเวียนมาอีกครั้ง ท่าพิเศษ ควงสว่านเกลียวสองรอบ ท่ามาตรฐาน subject base, building type base, problem base และ base อื่นๆ อีกมากมาย

ผมรู้สึกว่ามีการ “แบ่ง” “แยก” “ขีด” “ส่วน” ระหว่างความเป็นท่าพิเศษ และ ท่ามาตรฐานชัดเจน

ท่ามาตรฐานคืออะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ตั้งแต่ตอนเริ่มต้น มีกระบวนเหตุผล ที่มาที่ไป แสดงให้เห็นได้ว่า นศคิดมาอย่างไร และไปยังไงต่อ

ส่วนท่าพิเศษ (สว่านเกลียวสองรอบ) คือความเวิ้นเว้อ สับสน ในชีวิต เริ่มจากนามธรรม และ (ส่วนใหญ่) มันก็จะวนไปวนมา ไม่เป็นกายภาพสักที สับสน วุ่นวาย (มัวแต่หมุนเกลียวสองรอบอยู่)

สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวผมก็คือว่า มันมีจริงๆเหรอ ท่าต่างๆ

ท่ามาตรฐานมันเป็นมายาคติหรือไม่ ? ส่วนใหญ่จะแสดงจุดยืนว่า ท่ามาตรฐานนั้น โอเค แต่จริงๆแล้ว (เท่าที่ผมเข้าใจ) กระบวนการออกแบบ แบบ process design – program, site analysis, concept, architecture transformation นั้น มันก็ล้วนเป็นผลผลิตของโรงเรียนสถาปัตย์ ยุค Modern Architecture ที่พยายามบอกว่า สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่อธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ เท่านั้นมิใช่หรือ ทำไมมันจึงกลายมาเป็น ความรู้ (การเรียนการสอน) ทางสถาปัตยกรรม “กระแสหลัก” (ทำไมเราไม่เอาความคิดก่อนหน้านั้นมาเป็นกระบวนการบ้าง หรือแม้แต่ การออกแบบอาคารแบบไทยๆ ที่ผมเชื่อว่าไม่ได้มี “กระบวนการ” แบบ rationalism จัดๆ แบบวิทยาศาสตร์

สำหรับผม คิดว่าตอนนี้สิ่งที่พอจะจับต้องได้ มันมีเพียง ตัวผู้ออกแบบ และ อาคารเท่านั้น ที่เป็นกายภาพ พื้นที่ระหว่างกลาง จากคนออกแบบสู่สถาปัตยกรรมนั้น มันน่าจะเป็น “สิทธิ์ส่วนตัว” เป็น “ช่องว่าง” เป็น “สะพาน” ให้ผู้คนได้แสดงความคิด ความเชื่อของเขาออกมา

คำถามชุดใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังจากการมองแบบนี้มีอีกมากมายที่ตามมา
แล้วเราจะตรวจกันยังไง? เราจะวัดค่ากันยังไงว่าสิ่งใดดีกว่าอะไร? นักศึกษาจะสามารถออกไปทำงานสถาปัตยกรรมได้หรือไม่? สถาปัตยกรรมคืออะไร ? โรงเรียนสถาปัตย์คืออะไร? แล้วเราจะสอนมันยังไง?

โดยส่วนตัว (อีกแล้ว) ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ (ฮ่า) ผมยังใช้วิธีมองสถาปัตยกรรมผ่านแ้ว่นที่เต็มไปด้วยแรงกดของเหตุและผล ที่มาที่ไป ยังใช้ความชอบและเหตุผล เข้าไปตัดสิน ว่าอะไรดีกว่าอะไร (บางทีเราอาจจะมีแค่ผ่านไม่ผ่าน? และผ่านของแต่ละคนก็ไม่จำเป้นต้องเท่ากัน)

ที่เขียนมาไม่ไ้ด้มีเจตนาจะกวนน้ำให้ขุ่น (เอะ หรืออาจจะมีบ้าง) แต่จริงๆแล้วมันเป็นคำถามที่เกิดขึ้น และแค่ขอเขียนระบายและอยากรู้ว่าคนอื่นๆ คิดยังไงกันบ้างเท่านั้นเองครับ

PS

20 Responses to “สะกิดๆ ท่าพิเศษ ท่ามาตรฐาน ท่าไม้ตาย และ อื่นๆ (เป็นเหตุเป็นผลดีจริงมั้ย)?”

  1. brickbrick Says:

    ปกติจุดมุ่งหมายในการทำวิทยานิพนธ์ในระดับ ป.ตรี ของสถาบันในประเทศไทย ก็คือการประมวลความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาเป็นผลงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม 1 ชิ้นที่มีเล่มวิทยานิพนธ์หรือ book เป็นหลักฐานที่ถ้าไปเปิดดู ก็จะมีการถ่ายทอดกระบวนการในการทำงานทั้งหมดตั้งแต่ความเป็นมาของโครงการ,program,site selection, site analysis, concept, design process จนถึงผลงานขั้นสุดท้ายเป็นตัวอักษรและรูปภาพอยู่ในนั้น
    ถ้าดูจากเล่มวิทยานิพนธ์ของคณะฯ เรา ตาม format ที่กำหนดให้นักศึกษาเขียน ก็จะเห็นว่าในบทที่ 1 มี”สมมติฐาน”ด้วย อันว่าสมมติฐานนั้น แปลไทยเป็นไทยโดยเปิดดิกออนไลน์ช่วยคือผลจากการสังเกตหรือข้อสมมติที่ใช้เป็นมูลฐานแห่งการหาเหตุผล การทดลองหรือการวิจัย ซึ่งในวงการสถาปัตย์ เราจะพบคำๆ นี้ในหนังสือเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยทางสถาปัตยกรรมที่ส่วนมากจะได้อ่านกันตอนเรียนในระดับ ป.โท แต่จะไม่พบในหนังสือส่วนมากที่อธิบายเกี่ยวกับกระบวนการออกแบบทางสถาปัตยกรรม หรือแม้แต่ในการทำงานจริง ถ้าผลงานขั้นสุดท้ายตอบโจทย์ตอบความต้องการของผู้ใช้หรือเจ้าของงานได้ก็จบ..ไม่ต้องไปคิดอะไรมากให้ปวดหัว
    ในปีแรกที่เข้ามาสอนก็รู้สึกว่า ทีสิสที่นี่”cool”จริงๆ เพราะเข้าใจว่าผู้ที่วางหลักสูตรหรือกำหนดโครงร่างและกระบวนการทำวิทยานิพนธ์ตั้งใจจะให้มีการนำเอาระเบียบวิจัยหรือกระบวนการตั้งคำถามและหาคำตอบเข้ามาใช้ในกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม แต่โดยที่ไม่ทันรู้ตัว คำว่า”ท่าพิเศษ”และ”ท่ามาตรฐาน”ก็เข้ามาล่องลอยอยู่ในบรรยากาศของห้องประชุมกรรมการวิทยานิพนธ์ โดยเฉพาะในช่วงต้นเทอมหนึ่งที่เป็นช่วง proposal presentation แล้วมันก็จะกลับมาหลอกหลอนคนในห้องประชุมนั้นอีกรอบตอนปลายปี ที่จะประขุมเกรดไฟนอล หลังจากนักศึกษาปี 5ส่งงานวิทยานิพนธ์แล้ว และก็มีการตั้งคำถามต่อมาว่าควรจะเอา”สมมติฐาน”ออกไปจากเล่มวิทยานิพนธ์หรือเปล่า
    โดยส่วนตัวเชื่อว่าการทำงานออกแบบโดยการนำระเบียบวิธีวิจัยเข้ามาช่วยในการตั้งคำถามก่อนเริ่มกระบวนการออกแบบเป็นสิ่งที่น่าสนใจและจะช่วยทำให้งานออกแบบนั้นๆ มีความหมายที่สัมพันธ์กับจุดเริ่มต้นของงานมากขึ้น หนักแน่นมากขึ้น ว่างั้นเถอะ..โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามองว่าในบริบทปัจจุบัน Building type ต่างๆ น่าจะมีความคลุมเครือในการนิยามมากขึ้น เพราะพฤติกรรมของมนุษย์ก็คลุมเครือขึ้นเรื่อยๆ
    แต่ในที่สุด ในระบบการเรียนการสอนที่ต้องมีการประเมินผล ก็มาจบลงตรงคำถามที่ อ.ปัตย์ตั้งไว้ว่า ถ้าปล่อยให้นักศึกษาตั้งคำถามที่ตัวเองสงสัยเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมกันอย่างอิสรเสรี แล้วจะประเมินผลกันอย่างไร อาจารย์ที่ปรึกษาจะสอนอย่างไร จะช่วยแนะนำอย่างไร แล้วจะทำทีสิสเสร็จกันใน 1 ปีมั้ย ก็เลยกลายมาเป็นกรอบของ thesis ในปีนี้ว่าเราจะตรวจกันโดยท่ามาตรฐาน…..จบบ
    อ้อ !คำตอบส่วนตัว ท่ามาตรฐาน คืออาคารที่ตอบปัญหาเกี่ยวกับความต้องการการแก้ปัญหาทางกายภาพในปัจจุบันที่ชัดเจน สามารถระบุกลุ่มผู้ใช้ได้ แต่ท่าพิเศษคือโครงการวิทยานิพนธ์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมเฉพาะเช่นการศึกษาการตีความและแปลงความหมายจากพื้นที่ในภาพยนตร์มาเป็นพื้นที่ในงานสถาปัตยกรรม คืองานอาจจะไม่มี function ก็ได้ แต่เน้นกระบวนการในการศึกษา หรือกลุ่มผู้ใช้ที่อาจจะยังไม่มีจริงในปัจจุบันเช่น ห้างสรรพสินค้าของเชียงใหม่ในปี 2080 อะไรอย่างเงี้ยค่ะ ซึ่งในที่นี้ท่าพิเศษก็จะเป็นคนละความหมายกับ”การทดลองในกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม” เพราะอาคารที่เป็นท่ามาตรฐาน ก็อาจจะใช้การทดลองในกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรมได้ ส่วน”การทดลอง”ในกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรมเหมือนหรือต่างจากกระบวนการออกแบบปรกติอย่างไร ที่ขอติดไว้ก่อน ..ที่จริงยังนึกไม่ออก..แหะ แหะ

    brickbrick

  2. T Says:

    บังเอิญเพิ่งจะได้ทบทวนประเด็นที่ อ.ปัตย์กำลังบ่นอยู่พอดีเกมือนกัน

    บังเอิญ (อีกละ) ที่เคยบ่นเรื่องนี้มาหลายรอบแล้ว (จนเลิกบ่น เพราะไม่คิดว่าจะเกิดมรรคผลใดๆ และไม่อาจต้านกระแสแนวๆได้)

    แต่แค่อยากจะนำเอาข้อสังเกตุที่ฝรั่งเขาตั้งเอาไว้นามมาแล้วมาแชร์กัน (ที่ตั้งใจอ้างฝรั่งก็หวังเล็กๆว่า จะทำให้คำบ่นของเรามีน้ำหนักขึ้นมาบ้าง)

    สรุปให้ฟังอย่างย่อๆละกัน คือ

    เขา(ฝรั่ง)ว่ากันว่า เมื่อแนวติดเชิงวิทยาศาสตร์ถูกนำมาบังคับใช้กับแนวคิดเชิงสถาปัตย์ (ซึ่งตั้งแต่นมนานกาเลมา ก็เคยตั้งอยู่บนฐานของ mytho-poetic มากกว่า logic) ส่งผลให้มีการปฏิเสธประเด็นเรื่องจิตวิญญาณและจินตนาการ คงเหลือเพียงตรรกเชิงคณิตศาสตร์ล้วนๆที่เป็นที่ยอมรับในวงการสถาปัตย์ทั่วๆไป ศิลปและแนวคิดเชิงอัตตนิยมถูกลดค่าลงว่าเป็นเสมือนความเพ้อฝันที่สร้างจริงไม่ได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เขา (ฝรั่ง) เรียกว่า inversion of priorities หรืออีกอย่างก็เรียกว่า confusion between the unknowable and the knowable

    หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การยกย่องแนวคิดที่ตั้งบนตรรก linear thinking ให้อยู่เหนือแนวติดเชิงอุปมาอุปมัย metaphor และ symbolic

    จึงไม่เป็นเรื่องที่แปลกใจอีกต่อไปว่า ทำไม “ปริมาณ” ของช้อมูลสนับสนุนจึงได้รับการยกย่องมากกว่า (และได้เกรดสูงกว่า) ดีไซน์

    และในขณะเดียวกันก็อธิบายได้ว่า ทำไมจึงเกิดการ classifies ท่าปรกติ vs ท่าพิเศษ

    ในขณะที่ Idea, imagination และ profound experience ถูกทอนตวามสำคัญลงเหลือเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของขบวนการเท่านั้น แล้วเราจะมานั่งแปลกใจกันทำไมว่าวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่ไม่มีดีไซน์?

  3. brickbrick Says:

    สวัสดี อาจารย์ธวัชชัยค่ะ ^___^

    ที่จริงเรื่องที่เราคุยกันอยู่นี่น่าสนใจมากค่ะ
    ถ้าเราเชื่อว่าวิทยานิพนธ์เป็นผลลัพธ์ที่แสดงออกถึงสิ่งที่นักศึกษาเรียนมา 5 ปี และการทำงานอย่างหนักทั้งของอาจารย์และนักศึกษาที่ทำงานร่วมกันมาเกือบปีเต็มๆ
    (หนักจริงๆ นะคะ เพราะวันพุธมีตรวจทีสิสที่ไร กลุ่มอิฐได้ทานข้าวในห้องตรวจทีสิสทุกที
    -_-‘)

    ระหว่างที่กรรมการเถียงกันในห้องถึงท่ามาตรฐาน ท่าพิเศษ
    แต่สิ่งที่น่าตกใจ คือผลลัพธ์สุดท้ายของงานวิทยานิพนธ์..

    หลายปีมาแล้วที่เราไม่ค่อยได้เห็นงานวิทยานิพนธ์ที่ทำให้คนตรวจตื่นเต้น…
    ทั้งๆ ที่เชื่อว่าในห้อง jury ของทุก studio ตั้งแต่ stu.1,2,3,4 มักจะมีผลงานที่ทำให้อาจารย์คลายเหนื่อยกันอยู่บ้าง

    น่าสนใจว่าเราละเลยอะไรกันไปบ้างหรือเปล่า ในตลอดกระบวนการ 1 ปี
    เดี๋ยวคืนนี้ต้องกลับไปลองถามตัวเองดูค่ะ 🙂

  4. T Says:

    หวัดดีครับ อ.อิฐ 🙂

    ลองมาคิดเล่นๆกันนะครับ (เล่นๆ แบบเล่นๆนะ ขอลอกเลียนวิธีการเขียนวิทยานิพนธ์เล็กน้อย)

    “สมมติฐาน” หากสถาปัตยกรรมเป็นวิชาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ mytho-poetic โดยแสดงออก (express) ผ่านแนวคิดเชิง metaphor และภาษาเชิง symbolic เพื่อสร้างความสมดุล (reconcile) ระหว่าง ชีวิต ความเป็นมนุษย์และความเป็นจริง (reality) โดยอาศัยการตีความ (interpretation) จากประสบการณ์และประสาทรับรู้ไปสู่ built-environment แล้วละก็ วิทยานิพนธ์ทางสถาปัตยกรรมก็น่าจะเป็นขบวนการของการศึกษาเชิงจินตนาการ (imaginative) เชิงปรัชญา เชิงวิพากษ์ (dialectic) และเชิงวิกฤติ (critical) เป็นการท้าทายสิ่งที่ซ้ำซากจำเจ (decadent) สิ่งที่ทำตามๆกันโดยไม่ฉุกคิด (obvious) หรือ เป็นการนำเสนอวิธีการมองใหม่ การคิดใหม่ การทำใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องมนุษย์ที่สมกับยุคสมัยยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่ขบวนการเชิงคณิตตรรกะ หรือการพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์ หรือเป็นเพียงเทคนิคทางการก่อสร้างเท่านั้น

    ดังนั้น วิทยานิพนธ์จึงไม่ใช่ก้าวแรกของการนำไปสู่ใบอนุญาตวิชาชีพ แต่เป็นบทสรุปความสุกงอมของพัฒนาการทางความคิดและประสบการณ์เชิงปรากฏการณ์วิทยาของผู้ทำวิทยานิพนธ์ ณ ห้วงเวลานั้นๆเท่านั้นเอง

  5. ฮอลล์ Says:

    อาจารย์ธวัชชัย ตอบได้เท่ห์มากค่ะ

  6. กิ๊ก Says:

    “มันมีโครงการแปลกประหลาดอย่างนี้บนโลกด้วยหรือ” หลังจากนำเสนอวิทยานิพนธ์ครั้งที่สองถึงตอนนี้เสียงนี้ยังแว่วอยู่ในหู ตัวเองเกิดคำถามตลอดค่ะ ว่า เอ หรือเพราะเรายังทำงานไม่พอ หรือมันจะเป็นไปไม่ได้”เลย” ที่จะทำมันได้ หลังจากนั้นมาเกิดความกลัวครอบงำว่า ความชัดเจนของโครงการคือ building type คือ สถิติทั้งหลาย คืออะไรที่เราคิดเองอธิบายเองไม่ได้ คืออะไรที่ต้องมาแหล่งอ้างอิง ตกลงคืออะไร?
    โอเค มันอาจจะใช่ หรือไม่ใช่ ก็ยังไม่รู้ค่ะ

    คำตอบของหนูจบลงที่ วิทยานิพนธ์คือสิ่งที่อยากทำ ก็แค่นั้นเอง อยากทำก็ทำ อยากเห็นหน้าตาของมันว่าจะเป็นอย่างไร…ก็แค่นั้น

    อุ๊บส์ ชอบบล๊อกนี้จังค่ะ ^^

  7. ฮอลล์ Says:

    อ่อ หนูอยากแสดงความคิดเห็นเพิ่มค่ะ
    ตั้งแต่ก่อนจะเลือกเข้ามาเรียนที่มช หนูก็เคยได้ยินชื่อเสียงของสถาปัตย์มช.มาว่าเก่งด้านความคิด (มีคนบอกมาหลายคน) และพอเรียนก็รู้สึกว่าแนวทางการสอนก็เน้นให้คิดเยอะจริงๆแหละ เพราะความรู้ด้าน structure เทียบกับสถาบันอื่นแล้วด้อยกว่าเขา ก็คิดว่าไม่เป็นไรของเราเด็ดเรื่องความคิด เพราะโดยส่วนตัวก็ไม่แน่ใจนักว่าอยากจะเป็นสถาปนิก ยิ่งพอได้ฝึกงานแล้วรู้สึกว่าทำงานแบบนี้ ไม่ใช่แบบที่ตัวเองชอบเลย ทีนี้พอมาถึงทีสิสหนูก็เครียดกับการเลือกหัวข้ออยู่เป็นเดือนสองเดือนเลยทีเดียว ว่าอยากจะทำเรื่องอะไร มีรุ่นพี่แนะนำว่ามีให้เลือก 2 แบบคือ จะจบง่ายๆ หรือจะจบเท่ๆ….คิดในใจว่า แน่นอนคนอย่างเราก็ต้องอยากจบเท่ๆอยู่แล้ว ก็เลยเลือกที่จะเท่ เพราะทีสิสมีครั้งเดียวในชีวิต จบไปก็คงไม่ได้ทำอะไรแบบนี้อีกแล้ว…. ช่วงแรกหนูก็รู้สึกสนุกและมีความสุขกับการทำทีสิสดี รู้สึกว่าเรื่องที่เลือกก็เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำให้มันเกิดขึ้นบนโลกใบนี้อยู่แล้ว

    แต่หลังจากผ่านการพรีเซ้นไป 2 ครั้งและผลก็คือ ไม่ผ่านทั้ง 2 ครั้ง ก็เริ่มเครียดหนัก ท้อแท้และสิ้นหวัง เพราะเคยมีคนเตือนแล้วเหมือนกันว่าเรื่องที่ทำมันยากนะ…หัวข้อแบบนี้มันผ่านยากอะไรแบบนี้ เห็นคนที่เค้าผ่านกันก็เป็นท่ามาตรฐานทั้งนั้น … อ๊าว!!! แล้วทำไมไม่บอกตั้งแต่แรกวะ ว่าที่จริงสุดท้ายก็เอาเข้าท่ามาตรฐานอยู่ดี จะได้ทำเรื่องง่ายๆ ให้พอจบๆไป ไม่ต้องมาเครียดแบบนี้ (คิดไปพลางโทษระบบของคณะเรา )เรียนมาแบบติสแตกมาก สุดท้ายทีสิสก็เน้นให้จบอย่างมาตรฐาน งั้นทำไมไม่สอนให้เป๊ะๆแบบลาดกระบังเลยล่ะคะ ปล่อยให้หนูคิดทีสิสแบบที่โห…หาเองคิดเองตั้งแต่ต้น คนอื่นนี่แทบจะก๊อบ โปรแกรมเขามาได้เลย … นั่นแหละค่ะตอนนั้นคือคิดร้ายไปต่างๆนานา

    เศร้าอยู่ 3-4วันก็รู้สึกว่าสู้มันๆ เวลานี้ต้องผ่านเท่านั้น
    เสียดายที่อิมเมจงานไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ เพราะถ้าทำแบบที่คิดไว้ไม่ผ่านชัวร์

    สุดท้ายนี้ขอแสดงความคิดเห็นว่า การที่ใช้เกณฑ์ว่ากรอบของทีสิสควรจะเป็นแบบท่ามาตรฐานนั้น ถ้าใช้กับรุ่นน้องปี4ปีนี้เป็นต้นไปละก็คงเหมาะค่ะ เท่าที่ดูตามหลักสูตรที่น้องเรียนนะคะ แต่หนูว่ารุ่นหนูปีนี้และก่อนๆหน้านี้ ดูจะแปลกๆนะคะที่ตบให้ทีสิสเข้าท่ามาตรฐาน เพราะรู้สึกว่าตั้งแต่เรียนมาปี1-ปี4นั้นเราสามารถคิดงานได้ตามศักยภาพของแต่ละคนเลย ใครถนัดท่าพิเศษก็ใช้ท่าพิเศษ ใครถนัดท่ามาตรฐานก็ใช้ท่ามาตรฐานไป นอกโลก ต่างดาว ก็คิดกันไป แต่พอเป็นทีสิส แล้วไม่ใช่อย่างที่คิดเลย ไม่สนุกแล้วค่ะ ขอเรียนจบ…พอ

    เอ่อ…คำพูดบางคำไม่สุภาพ ไม่เหมาะสมขออภัยด้วยนะคะ…

  8. brickbrick Says:

    ยังคิดอะไรต่อไม่ออก
    แต่อยากบอกว่าขอเป็นกำลังใจให้นักศึกษาปี 5 ทุกคนค่ะ
    อยากเห็นเรียนจบ…อย่างเท่กันทุกคนนะ 🙂

  9. T Says:

    ปัญหาโลกแตกครับ 😉

    ผมไปอเมริกา ก็ไปคุยกับอาจารย์เก่าซึ่งยังสอนอยู่ เขาก็บ่นเหมือนกับผมเป๊ะ (เอ หรือว่าพวกเรามันพวก alien แฝงมาก็ไม่รู้เน๊าะ) ปีนี้เขาสอนสตูสี่ เขาต้องออกกฏห้ามใช้สื่อดิจิตอลทุกชนิด ทั้งในการทำงานและการทำพรีเซ้นท์ (แอบดีใจเล็กๆว่า แน๊ะ เราพยายามทำมาหลายปีแล้ว) ประเด็นคล้ายคลึงกัน ทั้งในส่วนของการสอน กรอบความคิดทั้งในส่วนของ นศ. ก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด (ของเราเห็นชัดเจนในปีนี้ ปีสอง) และในส่วนของผู้บริหารก็เห็นได้ชัดเจนว่า เอียงไปทางภาคเทคนิค (ขอไม่เรียกว่าภาคปฏิบัติ) เกือบสุดขั้ว

    ดังนั้น ถ้าเรามองภาพให้กว้างๆ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า นี่เป็นยุคของแนววิทยาศาสตร์เชิง positivistic thinking คือ อะไรที่มองไม่มเห็นด้วยตาเปล่าถือว่าไม่มีอยู่จริง ผู้ใดที่คิดไม่เหมือนนี้ ไม่เดินตามกรอบนี้ ก็จะถูกกีดกันออกไปจากระบบเรื่อยๆ หรือ ถ้าจะเลือกอยู่กับระบบ ก็จะต้องอยู่ภายใต้กรอบที่เข้มงวดมากๆ ทั้งๆทีอีกด้านหนึ่งของความเป็นมนุษย์นั้นก็โหยหาอดีตที่ฟื้นกลับไม่ได้ ลงท้ายก็กลายเป็นวัฒนธรรมเพื่อการค้า ทุกคนก็ happy เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นคำตอบครอบจักรวาล

    imagination และ creativity เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตสวยงาม เป็นต้นธารกำเนิดของวัฒนธรรมและอารยธรรม ตราบใดที่มนุษย์ยังดำรงความเป็นมนุษย์ไว้ได้ สิ่งเหล่านี้ไม่อาจจะถูกกดหรือลบให้หายไปอย่างแน่นอน

    สู้ๆครับ มันยากและโหดร้าย แต่ขออย่าท้อ ให้กำลังทุกคนครับ


  10. ผมมองว่าการเดินทางเพื่อไปหาอะไรสักอย่างนั้น มันมีหลายทางมาก
    เพียงแต่เรารู้ทางที่จะไปหามันมากน้อยต่างกันเท่าใดและอย่างไรต่างหาก
    อาจเป็นเพราะเรากลัว หรือเราไม่รู้ หรือเราไม่สนใจ…อย่างไหนกันแน่
    ผมคอยถามตัวเองในการทำงานสถาปัตยกรรมอยู่เสมอ
    และผมถูกฝึกเรื่องการทำงานสถาปัตยกรรม ให้คิดทุกลมหายใจที่เข้า-ออก

    คำถามคือเราตั้งใจกับมันจริงหรือปล่าว
    หรือเราตั้งใจเพียงอาทิตย์สุดท้ายที่คณะฯปล่อยให้ทำคือ production week
    ซึ่งตอนเรียนผมไม่เคยรู้จักมันเลย

    ผมรู้เพียงว่าผมจะส่งแบบให้อาจารย์ที่ตรวจงานของผมแต่ละครั้งนั้นให้ดีที่สุด
    ถ้าครั้งไหนที่อาจารย์ไม่ยอมตรวจงานผม ผมเสียใจและต้องกลับมาคิดว่า
    ผมทำงานแย่ขนาดนั้นเลยหรืออาจารย์ถึงไม่ยอมให้ความเห็นงานผม
    สิ่งที่อาจารย์ห้ามคือ การพูดว่าผมหรือหนูจะทำอะไรต่อดีค่ะ…มันเรื่องของผมหรือครับ อาจารย์จะตอบอย่างนั้นเสมอ
    เพราะอาจารย์อยากให้เราใช้สมองและสองมือของเราเองมากกว่า

    ขนาดอาจารย์ผมตายไปแล้วท่านยังมาเข้าฝันผมอีกนะ
    ท่านบอกว่า ถ้าเองคิดถึงข้า…เองไม่ต้องทำอะไร…เองทำงานของเองให้ดี
    ผมคิดถึงอาจารย์และผมจะทำงานของผมให้ดีที่สุดครับ

  11. studiospaces Says:

    แจมด้วยครับ สนุกดี ขออนุญาตแยกเป็นประเด็นๆ ดีกว่าครับ จะได้ไม่สับสนต่อตัวผมเองและคนอื่นๆ ด้วย (โปรดอ่านโดยการใช้วิจารณญาณของตัวท่านเอง)

    1. ผมว่าอาจารย์หลายต่อหลายคน ไม่เข้าใจจริงๆ ครับว่า ที่เรียกว่า “ท่าพิเศษ” หรือ “ท่ามาตราฐาน” คืออะไร เนื่องจากมีทัศนคติต่อการสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน เช่น บางท่านอาจจะมองว่ามันเป็นการแก้ไขปัญหา บางท่านว่ามันเป็นการปูพื้นฐานเพื่อไปสอบกส.บางท่านว่ามันเป็นการทดลองก่อนออกไปทำงานจริง หรือบางท่านว่ามันเป็นการเรียนรู้ ทดลองหาคำตอบในองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมบางอย่าง

    2. ถ้าตามทัศนคติที่แตกต่างกัน จึงไม่น่าแปลกใจว่า “โครงการท่ามาตราฐาน” อาจจะหมายถึง โครงการที่สามารถให้ทุกคนเข้าใจได้ สามารถตอบรับต่อทัศนคติในมุมใดก็ได้ คือมองตัวงานเป็นเพียงแค่ “วัตถุ” ล้วนๆ การตั้งสมมติฐาน (ประเด็นนี้ก็น่าตอบ แต่ขอเอาไว้ก่อน) จึงเป็นความพยายามที่จะคลี่คลายร่องรอยต่างๆ ในโลกใบนี้ ในประเทศไทย หรือในพื้นที่ (ทั้งในแง่ของพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่จริงๆ) ให้แทรกตัวเอาโครงการนี้เข้าไปได้จริงๆ หรือดูเหมือนว่าจะทำได้อย่างมีตรรกะ (ทางวิทยาศาสตร์) ได้จริงๆ เช่น ดูว่ามีโครงการคล้ายคลึงไหม ดูว่าที่ตั้งสามารถรองรับได้เท่าไหร่ เหมาะสมไหม ใครจะเป็นผู้ใช้สอยโครงการ ผมมองว่ามันคือการ “สืบค้นร่องรอย” และ “สอดแทรกโครงการ” ที่นักศึกษาอยากจะทำลงไปในการสืบค้นนั้น ให้มันเป็นไปตามครรลองของความเป็นจริงในปัจจุบัน อะไรก็ตามที่ดูเหมือนว่าจะไม่เข้าร่องเข้ารอย ไม่สามารถตอบรับกับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ทำให้ถูกมองว่าเป็น โครงการที่แปลก ประหลาด เข้าใจยาก เป็นไปไม่ได้ และก็กลายเป็น “โครงการท่าพิเศษ” ไปในที่สุด ทัศนคติที่มองโครงการเป็นวัตถุ จึงจำเป็นต้องเลือกเอามุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้ มีตรรกะ มีการทดลอง (ให้ค่าคะแนน ให้น้ำหนัก ให้เกิดการคัดกรอง แล้วเลือกสิ่งที่ดีที่สุดจากกระบวนการคัดกรองนั้นๆ ทั้งๆ ที่การให้ค่าน้ำหนักต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่สมมติกันทั้งหมดนั่นแหละแต่ไม่เคยคิดตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้เลย ฮึม) และที่สำคัญจึงจำเป็นต้องเอาหลักการทางสถาปัตยกรรม (ที่ถูกสร้างสมต่อๆ กันมาตามครรลองทางวิทยาศาสตร์ หรืออาจจะมองได้ว่าเริ่มต้นตั้งแต่ วิทูเวียส อธิบายหลักการทางสถาปัตยกรรมในรูปแบบของวัตถุโน้นเลย) โดยเฉพาะหลักการทางสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อ ความเป็นวัตถุ (Geometry, Perseptival Space don’t need to mention proportion, scale, rhythm, and ความงามตามการจัดสัดส่วน) โครงสร้างและงานระบบจะหนีพ้นได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ถูกรวมๆ กันแล้วเรียกมันออกมาว่า “โครงการท่ามาตราฐาน” ที่ใช้เป็นตัวย่อของ “โครงการท่ามาตราฐานที่ถูกผลิตตามทัศนคติของสถาปัตยกรรมในฐานะที่มันเป็นวัตถุและตอบสนองตอบต่อกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นความต้องการที่ทางก.ส.อยากให้เราผลิตบัณฑิตออกมา” hurrrr..

    3. มาดู “โครงการท่าพิเศษ” กันบ้าง ถ้าเรามองว่า “ท่าพิเศษ” คืออะไรก็ตามที่ไม่อยู่ในกรอบ ในคำนิยามของ “ท่ามาตราฐาน” แล้วละก็ อาจจะแปลได้ว่า “เป็นโครงการที่ไม่ได้พยายามสร้างงานสถาปัตยกรรมให้อยู่แต่เพียงฐานะที่มันเป็นวัตถุ ไม่พยายามตอบสนองต่อกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ไม่สนใจที่จะตอบรับต่อระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม และไม่สนใจที่จะต้องเข้ากรอบการตรวจสอบมาตราฐานของ ก.ส.” ดูเหมือนว่าจะมีไหมครับ “ท่าพิเศษ” เหล่านี้

    4. ถ้าอย่างนั้น “โครงการท่าพิเศษ” คืออะไร สำหรับผมแล้ว ตอบได้เลยว่าไม่มีทางเกิดขึ้นในโรงเรียนสถาปัตยกรรมแบบที่เราๆ ท่านๆ สอนอยู่ เพราะ
    4.1 บางครั้งบางที เด็กๆ เข้าใจไปว่าการออกแบบที่แปลกๆ บิดๆ เบี้ยวๆ เป็นโครงการท่าพิเศษ เป็นทางที่เค้าจะต้องถูกจับเข้าไปเดิน (ถ้ามองเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า บ้องตื้น มากครับ)
    4.2 การมองว่าสถาปัตยกรรมไม่ใช่เป็นเพียงแค่ในฐานะ “วัตถุ” ต้องย้อนกลับมาดูว่า เราท่านที่สอนๆ เรียนๆ กันอยู่นี้ มีกี่คนที่พยายามมอง หรือสร้างความสนใจให้กับตัวเองในการสร้างมุมมองแบบนั้น มีกี่คนที่พยายามค้นหา สร้างแนวทางการออกแบบเพื่อก่อให้เกิดการสร้างสถาปัตยกรรมในฐานะอื่นๆ เช่น ใช้เป็นตัวแทนในการขุดค้นความเป็นตัวเอง ใช้เป็นการทดลองเพื่อเข้าใจความคิดคนอื่นๆ ฯลฯ หรือที่ อาจารย์คมสัน มักจะพยายามบอกว่า มันคือ “Subjective” นั่นเอง
    4.3 การไม่พยายามหนีออกจากกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เช่น ในสิ่งที่ อาจารย์ ธวัชชัย พยายามชี้จุดยืนให้เห็น ผ่านการเรียนรู้ศาสตร์ทางการตีความ ผ่านการใช้ปรากฏการณ์วิทยา เพื่อทำความเข้าใจ อธิบายปรากฏการณ์ และนำไปสู่การออกแบบ สิ่งเหล่านี้มันยากที่จะเข้าใจ แต่ไม่ได้ยากที่จะเรียนรู้ เท่าที่เห็นมาก็ไม่ค่อยมีคนที่พยายามจะทำความเข้าใจมันเท่าไหร่
    4.4 ไม่ต้องการตอบสนองระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม โครงการทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเด็กเรา มีกี่โครงการที่สามารถหนีออกไปจากกรอบนี้ได้ ถ้ามีความพยายามออกไป ก็ถูกความเป็นจริงของอาจารย์ผู้ตรวจเอามาจับ แล้วก็ปรับมันกลับเข้าไปอีก แล้วมันจะปรากฏออกมาได้อย่างไร อย่าลืมนะครับว่า ขนาดของโครงการก็เป็นผลผลิตจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเหมือนกัน (เล็กเกินไปไม่ให้ทำ)

    5. เริ่มเหนื่อย… ถ้าอยากจะให้เกิด “โครงการท่าพิเศษ” จริงๆ ต้องทำอย่างไร สำหรับผม ผมว่าเราๆ ท่านๆ ต้องเริ่มก่อนเลยครับ เช่น ตั้งประเด็นการค้นหาความหมายและจุดยืนทางสถาปัตยกรรมของเราเอง หลากหลายมากๆ ได้ยิ่งดีครับ ทั้งออกแบบ ทั้งเขียน ทั้งสอน ทั้งคุมสตู สิ่งเหล่านี้จะเพาะบ่มให้เกิดการสร้างความแตกต่างออกไปจาก นิยามเดิมๆ ถ้านักศึกษาคนไหนสนใจจริงๆ ต้องมองแววกันไว้ตั้งแต่แรกเริ่มเลยครับ ในสตู มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ส่งต่อกัน คัดเกลา ลับเหลี่ยมเอาไว้ ไม่ใช่พอเริ่มขึ้นในมาในปี 5 แล้วจะมาประกาศตัวกันว่า “เอาล่ะ ข้าจะทำแบบโครงการท่าพิเศษ” แล้วใครจะยอมให้มันทำล่ะครับ

    ขอบคุณครับที่มีพื้นที่ให้เขียนระบาย
    s

  12. กิ๊ก Says:

    รู้สึกได้เข้าใจอะไรมากขึ้นค่ะ ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านเลยค่ะ ^^
    เป้าหมายมีไว้พุ่งชนนี่คะ

  13. studiospaces Says:

    สวััสดีกันอีกครั้งครับ หลังจากเขียนไปเมื่อวันก่อน ยังมีประเด็นที่เอาไปคิดต่อนิดหน่อยครับ (คาใจอยู่อีกนิดหน่อย) ครั้งนี้ขออนุญาตใช้ตัวอย่างประกอบ

    ลองมาพิจารณางานของนักศึกษาหลายคนที่ “เกือบจะถูกตีตราว่าเป็นโครงการท่าพิเศษ” (อันนี้อาจจะเป็นความเข้าใจของผมเอง ถ้าผิดขอโทษด้วยนะครับ) เช่น งานของน้องคนหนึ่งที่จะทำเกี่ยวกับ “ความรัก” หรืออีกคนหนึ่งจะทำเกี่ยวกับ “บทกวี” หรืออีกคนอยากจะทำเรื่อง “ความขัดแย้งกับความประณีประนอม” หรือแม้กระทั่งเด็กในกลุ่มของผมเอง ที่อยากจะทำเกี่ยวกับ “เพศ” ลองมาพิจารณาเล่นๆ (แต่แอบจริงจัง) กันนะครับ

    ผมว่านักศึกษาเค้าอยากจะ ตีความ สื่อความ ถอดความ แปลความ สิ่ง-สภาวะ-ปรากฏการณ์ เหล่านี้ออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรม โอวแม่เจ้าน่าสนใจมาก นั่นคือในแวบแรกที่ผมคิด แต่ต่อมาเมื่อเ้ข้าสู่การนำเสนองาน “ความเป็นไปได้” ในขั้นแรก ก็ใจหายฮวบไปเลย เพราะงานของนักศึกษากลุ่มนี้เริ่มมีปัญหาที่ถูกมองว่า “ไม่มีความเป็นไปได้” ของโครงการ อันนี้น่าคิด ที่มันไม่มีความเป็นไปได้ เนื่องจาก 1.โปรแกรม หรือกิจกรรมการใช้งานภายในโครงการไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร) 2.ประโยชน์ หรือการใช้งานจะทำให้เกิดอะไรดีๆ ขึ้นก็ไม่รู้ บางครั้งบางทีอาจจะมองว่าไม่ใ่ช่หน้าที่ของสถาปัตยกรรมที่จะทำงานในระดับนั้นได้ เช่น สถาปัตยกรรมไม่สามารถไปทำให้เกิดการลดอคติทางเพศได้ พื้นที่ไม่สามารถสร้างให้คนเรารักกันได้ หรือที่ว่างไม่สามารถแปลความได้ดังบทกวี ก็แล้วแต่จะมองกันนะครับ) 3.ผู้ใช้อาคาร ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นใคร หน้าไหนที่จะเข้ามา ผู้ใช้อาคารไม่มีตัวตนจริงๆ ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าพวกเขาจะคิดอย่างไร จะมาไหม และที่สำคัญอาจจะุถูกมองว่ามีกลุ่มก้อนน้อยมาก ไม่ควรที่จะนำไปคิดให้เสียเวลาในการสร้างเป็นวิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรม (อันนี้น่าคิดฮึม) เมื่อผ่านขั้นตอนการคิดของทั้ง3ขั้นนี้แล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องไปพูดเลยว่า มีใครจะเป็นผู้ออกเงินให้ทำโครงการ (Host) ไม่จำเป็นต้องไปคิดเลยว่าจะอยู่ตรงไหนในโลกนี้ และสุดท้ายก็เลยกลายเป็นว่าไม่ต้องทำต่อ เปลี่ยนหัวข้อดีก่ากลายเป็นข้อสรุป

    ผมคิดว่าในช่วงนี้แหละที่น่าสนใจ เพราะว่ามันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของ การปรึกษาหารือในทีม (อาจารย์ที่ปรึกษาและลูกทีม) ว่าจะรับมือกับการรุมทึ้งของกรรมการได้อย่างไร ถ้าอาจารย์มองว่านักศึกษาคนไหนไม่ได้มีความคิดที่ชัดเจน มีแนวทางที่ชัดเจนแล้วละก็ ต้องปรับให้เข้ารูปเข้ารอย (เข้าสู่โครงการท่ามาตราฐาน) แต่ถ้าคนไหนมีแนวทางที่ชัดเจน รู้ว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร มีความชื่นชอบและเชียวชาญในความรู้นั้นในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเิ่พิ่งมาชอบบทกวี หรือเพิ่งพบรัก หรือเพิ่งอยากจะแสดงตัวตนออกมา “อย่าลืมว่าวิทยานิพนธ์ไม่ใช่ทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ใช่ที่ที่จะปลดปล่อย แต่เป็นเพียงโจทย์ข้อหนึ่งที่จะเกิดจากความสงสัยในองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมและใช้หลักการและเหตุผลทางสถาปัตยกรรมในการหาคำตอบ”

    สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เอง อาจจะเกิด scenario เหล่านี้:
    1.นักศึกษาอ่อนแรงหมดแรงที่จะต่อสู้ ยอมถูกรับกระบวนท่าเข้าสู่โครงการท่ามาตราฐาน คือปรับสิ่งที่ตัวเองอยากจะทดลองค้นหาไปเป็นเพียง กิจกรรมหนึ่งในโครงการ เป็นพื้นที่หนึ่งที่กิจกรรมเหล่านั้นถูกบรรจุอยู่ เช่น กลายเป็นห้องอ่านบทกวี กลายเป็นห้องบำบัดคู่ที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน กลายเป็นอนุสรณ์สถาน กลายเป็นศูนย์ที่ใช้เป็นการร้องเรียนสิทธิ เป็นต้น

    2.อาจารย์อ่อนแรงในการเตรียมการที่จะให้นักศึกษาในทีมขึ้นชกป้องกันตำแหน่ง (ป้องกันความคิดของตัวเองที่จะถูกปรับเปลี่ยนไป) เนื่องจากไม่ค่อยมั่นใจว่านักศึกษาคนนั้นคนนี้มีความรู้เชี่ยวชาญเพียงพอไหม เข้าใจหรือไม่ว่าต้วเองทำอะไรอยู่ มีทิศทางในการสร้างการทดลองของตัวเองได้ไหม ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงอาจารย์ที่ปรึกษาจะทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ ตัวสะท้อน ไม่ต้องช่วยคิด ไม่ต้องช่วยออกแบบการทดลอง หลายท่านคิดว่าไม่ไหว (เมื่อมองย้อนกลับมาจากจุดยืนของนักศึกษาแล้ว) หลายคนจึงยอมให้นักศึกษาปรับไปเป็นโครงการท่ามาตราฐาน

    3.อาจารย์และนักศึกษาเลือกวิธีการ “พรางตัว” หรืออาจจะพูดได้ว่า “ประีณีประนอม” คือเอาเข้าจริงๆ แล้วนักศึกษาหลายๆ คนไม่ได้มีความอยากที่จะทดลองจริงๆ หรอกครับท่าน คือไม่ได้เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ตัวเองสนใจ หรือปัญหาจริงๆ เช่น บทกวีจะสามารถแปลค่าเป็นที่ว่างและทำหน้าที่ในการสื่อความสร้างความประัทับใจให้กับคนดู คนใช้พื้นที่เช่นเดียวกันคนอ่านบทกวีอย่างไร หรือ ความรักที่เิกิดขึ้นมาจากความสัมพันธ์ของคนสองคนมีปฎิกิริยาอย่างไร แล้วปฎิกิริยานั้นมีส่วนที่ถูกเร่งเร้าจากสภาพแวดล้อมที่ถูกกำหนดสร้างขึ้นมาอย่างไร หรือแม้กระทั่ง การปรับอคติทางเพศเกิดจากการเข้าไปมีประสบการณ์ต่อความแตกต่างและเรียนรู้ในการยอมรับความแตกต่างนั้นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนคำถามที่อยู่ไกลๆ แต่สิ่งที่อยู่ใกล้กว่า คือ จะออกแบบอย่างไรที่จะทำให้เกิดการ สื่อความ แปลความ ตีความ ถอดความ นั่นคือ สิ่งที่นักศึกษาสนใจนั้นมันอยู่ในส่วนของการ “ออกแบบ” คือ หลังจากที่โครงการจะต้องสามารถมีความ “เป็นไปได้” ก่อน ดังนั้นในส่วนแรกของการสร้างความเป็นไปได้ึึจึงยอมประณีประนอม ปรับให้เป็นโครงการที่จับต้องได้ มีการวัดผลได้ มีผู้ใช้จริง และต้องยอมปรับในระดับหนึ่งเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อ “งานวิทยานิพนธ์ที่ใช้หลักการทางสถาปัตยกรรมในการหาคำตอบและวัดผล”

    ผมว่าในกลุ่มของผมมีโครงการที่ทำการ “พรางตัว” อยู่หลายโครงการ (อาจจะคิดไปเองก็ได้) และผมคิดว่าการ “พรางตัว” นี้คือการปรับให้โครงการที่มีความเป็นส่วนตั้วส่วนตัวมากๆ (so subjective) ให้เป็นโครงการที่มีความเป็นกลางเ็ป็นวัตถุ มีวัตถุประสงค์ที่คนอื่นๆ สามารถร่วมพิจารณาด้วยได้ (objective)น่าคิดนะครับเพราะว่า “การพรางตัว” ที่ดีย่อมสามารถประณีประนอมกันได้ทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายของคณะกรรมการที่ต้องการมองเห็นงานวิทยานิพนธ์และงานทดลองของนักศึกษาที่ตั้งใจไว้

    S


  14. ประเด็นซับซ่้อน ซ้อนศัพท์
    แต่รู้สึกว่า studio space เริ่มมีชีวิตแล้วครับ !
    (ทำไมผมรู้สึกว่าเป็นหนึ่งในทีมวางระเบิดเวิลเทรดหว่า)
    ฮ่า

  15. Ne-o-k Says:

    อึม… ขอบคุณท่านอ.สันต์ครับที่ชักนำผมเข้ามาแจมด้วย (ในเรื่องของ Subjective)
    และ อ.ปัตย์อีกท่านที่เริ่มกวนน้ำ…ซึ่งขุ่นขึ้นมากจริงๆครับ
    แต่สุดท้าย เขื่อเต๊อะ…มันจะตกตะกอนและน้ำ…มันจะใสแจ๋ว
    มองเห็นอะไรได้ทะลุปรุโปร่ง… ขอชื่นชมครับ 🙂

    ต่อเนื่องในประเด็นในกระทู้นี้ ผมขอแจมตามทรรศนะและตามสไตล์ของผม ดังนี้ครับ

    1… จำได้ว่าเรื่อง Thesis นี่ เคยเอาไปผสมในความคิดตอนที่ได้ฟังเลคเชอร์ ที่ AA จากอ.ท่านนึง (Mark) ท่านพูดถึงเรื่อง The profound, The fundamental, The (moment of) Creativity>>> อะไรเทือกนั้น ซึ่งมันวกมาสู่คำถามแห่งการเกิดขึ้นของงานออกแบบสถาปัตยกรรม (Reasons for Architecture) และเชื่อมไปหาคำถามแห่งการเกิดวิทยานิพนธ์ในกลุ่มของศาสตร์”ออกแบบ” สถาปัตยกรรม (ในระดับป.ตรี ที่ผรั่งเรียกว่า Undergraduate แปลแบบกำปั้นทุบดิน คือ “ใต้บัณฑิต” ประมาณว่ายังไม่เป็นบัณฑิต…บัณฑิต (Graduate)ที่หมายถึงผู้รู้ ด้วยปัญญา จะเข้าขั้นปัญญาเป็น Master หรือ Doctor ก็สุดแล้วแต่)
    พอดีตอนนั้น ผมเองอยากรู้เรื่องของคำว่า Thesis by design ในศาสตร์ออกแบบที่ต่างไปจาก Thesis ในศาสตร์อื่นๆ เช่น พวกนักทดลอง นักวิทยาศาตร์ที่เข้าแลปต่างๆ อยู่พอดี

    2… Thesis ในความหมายของกรีก คือสิ่งที่ตนคิดเห็น สิ่งที่ตนต้องการจะพูด/เล่า/แสดง/สื่อสาร ออกมา มันจะมาจากปัญญา ความรู้ที่มี หรือการศึกษาค้นคว้าใดใดของตนก็ตามแต่ ฉะนั้น Thesis อย่างน้อย จะต้องมี “สิ่ง” ที่ต้องการจะพูดและต้องการจะแสดงออกมา(express)

    ในที่นี้ วิทยานิพนธ์ หรือ Thesis ก็น่าจะเป็นอะไรก็ตามที่ผู้เสนอ สนใจและใคร่อยากที่จะนำเสนอให้เห็น โดยเมื่อไปจับกับกรอบความคิดข้างบน ทำให้ “การออกแบบสถาปัตยกรรม” น่าจะเป็น “แก่นหรือประเด็นหลัก” ของสิ่งที่ผู้เสนอต้องการที่จะนำเสนอใน Thesis หรือถ้าเป็น Art Thesis งานศิลปะก็จะเป็น “แก่น” ของสิ่งที่ต้องนำเสนอ และDrama Thesis นั้น การแสดง ก็เป็น “แก่น” ของสิ่งที่นำเสนอ

    คำถามตามมา ก็คือ…แล้วจะเสนอ “แก่น” อะไรใน Thesis
    จะเสนอ “การออกแบบ”สถาปัตยกรรม? หรือ เสนอ”แบบ”ทางสถาปัตยกรรม? หรือ เสนอ “สิ่ง” อื่นๆ ???
    ตรงนี้สำคัญน่ะครับในเรื่องของคำ เพราะ เราเรียก Thesis ว่าวิทยานิพนธ์ทางสถาปัตยกรรม
    คำว่า “ทาง” สถาปัตยกรรม มันเปิดกว้างมากมาย เป็นไปได้ ทั้ง เสนอ “กระบวนการ” Process, “วิธีการ” Method, “การทดลอง” Experimentation,หรือ “แบบทางสถาปัตยกรรม” Architectural design proposal ก็ได้

    พอถึงตรงนี้ … ผมมองว่า ไอ้เจ้า “แก่น หรือ ประเด็น” ที่เป็นสิ่งที่อยากจะแสดงหรือนำเสนอออกมานั้น มันไปขึ้นอยู่กับมุมมองความสนใจ ความเชื่อ ต่างๆ ที่หลากหลายมากมายยยยย…

    และแล้ว…นานาทรรศนะเรื่องคุณค่าทางสถาปัตยกรรม(ศาสตร์และศิลป์)ก็กรูเข้ามาเป็นมูลเหตูแห่งปัญหาของThesis…รวมถึง ความเชื่อ ความสนใจและสุนทรียะแห่งสถาปัตยกรรมก็เข้ามาเป็นประเด็น ตามที่อ.หลายๆท่านได้กล่าวถึงข้างต้นครับ
    เพราะการออกแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นอะไรที่ต้องยอมรับว่า…เป็นศาสตร์แห่ง “ความหลากหลายที่ยุ่งเหยิงและแสนสนุก” จริงๆครับ กล่าวคือ มันเป็นไปได้มากมาย ผันไปตาม ความสนใจ พื้นฐานและปัจเจกของมนุษย์ และยุดสมัย อย่างไม่รู้จบ

    3… โดยตรงนี้แหละครับ ที่ผมมองว่า มันมีประเด็นซ้อนทับกันอยู่
    …หลายคนให้คุณค่าของ “กระบวนการ” มากกว่า “แบบ”
    …หลายคน มอง “แบบ” ทางสถาปัตยกรรม คือสิ่งสูงสุด มากกว่ากระบวนการ เพราะกระบวนการมันต้องมีอยู่แล้วเพื่อนำไปสู่ “แบบ”
    …หลายคน เห็นความสำคัญของ “การทดลองความคิดทางสถาปัตยกรรม” มากกว่า เหคุผลและตรรกะในเชิงปริมาณแบบวิทยาศาสตร์
    …หลายคนสนใจถึงสถาปัตยกรรมที่วางอยู่บนความเป็นจริง ไม่ดูเพ้อเจ้อ บ้าบอคอแตก จับต้องไม่ได้
    …….หลายคน…..มากมาย หลายความคิดครับ

    ผมมองว่า… เพราะความเชื่อ พื้นฐาน ค่านิยมทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างตรงนี้แหละครับที่ทำให้เกิดปัญหา และทำให้เกิดการสรุปคำ ของกลุ่มต่างๆ… ที่เราเรียกว่า “ท่า”
    พวกที่เลือกเสนอ “แบบ” ทางสถาปัตยกรรม ก็ดูปกติหน่อย เพราะเงื่อนไขของ ปริญญา มันชัดเจนว่าต้องแสดงให้กรรมการเห็นถึงศักยภาพในการออกแบบสถาปัตยกรรม จึงต้องเสนอ “แบบ”
    (มิใช่มาเขียนเพลง หรือทำหนัง!)
    ส่วนพวกที่เลือกเสนอในรูปแบบ “อื่นๆ ที่มิได้ดูเหมือนว่าจะเป็นแบบทางสถาปัตยกรรมได้ หรืออาจเป็นแบบสถาปัตย์บ้างแบบบ้าๆบอๆจับต้องยาก” ก็เหมาเป็นท่าพิเศษ เพราะมันช่างนามธรรมเหลือเกิน

    จริงๆ ผมยอมรับมันครับว่า “ท่าทั้งสอง” มันมีอยู่ และยอมรับถึงเงื่อนไขแห่ง ปริญญา และไม่ค่อยถามถึงมันอีก เมื่อคณะมีหลักสูตร 4-5-6 เพียงเพราะ ผมเริ่มเห็น “ที่อยู่” ของแต่ละ”ท่า” … กล่าวคือ “ท่าปรกติ” ก็มาอยู่ที่ ตรี ส่วน “ท่าพิเศษขั้นadvance” ก็มีที่ให้มันอยู่ในป.โท
    นอกจากนี้ ผมมองอีกมุมที่ต่างไปอีกครับ ว่า
    สำหรับผม…..มันยังมีอีก หลายสิบหลายร้อย”ท่า”มันควรจะมีมากกว่า 2 ท่าที่เราเรียกกันด้วยซ้ำ
    เพียงแต่ ไม่มีใครสร้างท่าที่”พิเศษกว่า” หรือ ท่าที่”พิเศษกว่านั้น” หรือ ท่าที่ “สุดพิเศษเลิศล้ำ” อื่นๆอีกมากมาย….
    เรียกได้ว่า (สำหรับผม) ท่าปรกติ หรือท่าพิเศษ เป็นเพียงแนวทาง แนวคิด แห่งสถาปัตยกรรมหนึ่งๆ เท่านั้น
    ท่าปกติ เป็นเสมือน แนวคิดแบบ Conventional ของการคลี่คลายไปสู่ “ที่ว่าง” และ โปรแกรมทางสถาปัตยกรรมที่เราคุ้นเคย จับต้องได้และสามารถพิสูจน์ ประเมินได่ง่าย ไม่ซับซ้อน
    แต่ ท่าอื่นๆ ก็น่าจะเริ่มมีให้เห็นด้วย (ยิ่งมาก “ท่า” ยิ่งดีครับ) และผมมองว่ามันเป็น
    จุดเริ่มแห่งความหลากหลายของคณะเรา
    ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี (ถ้าเรายังจะสานต่อและไม่ทำให้ ท่าพิเศษนั้นๆกลายเป็นเพียงตัวตลก หรือ หยุด มิให้มี ท่าประหลาดเกิดขึ้น)

    สิ่งที่อ.ปัตย์และท่านอื่นๆเขียนและถกทางปัญญากันอยู่นั้น เป็นทรรศนะ ความเชื่อผ่านbackgroundและ ปัญญาแห่งสถาปัตยกรรมที่แตกต่าง ตรงนี้ผมขอเชื่อมไปหา The profound และ The fundamental ที่จะนำไปสู่ “ท่าอื่นๆ” เหล่านั้นครับ
    เอาแค่ว่าเรื่อง “กระบวนการออกแบบ” ก็เริ่มจะต่างแล้ว ตามแต่ความเชื่อ ความคิดอ่าน ความประทับใจและพื้นฐานของแต่ละท่าน….
    ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากมากครับ และอยากให้สานความเชื่อนั้นไปสู่แนวคิดและแนวทาง เรื่อง “กระบวนการ สู่ที่ว่าง” อย่างจริงจัง
    ผมเชื่อว่าสิ่งที่ อ.ปัตย์เริ่มถามในกระทู้นี้ มันเป็น The Profound ที่มันจะกลายเป็น “ท่า” และ “กระบวน” ตามที่ท่านอ.ปัตย์เชื่อในท้ายที่สุดถ้าทำขยายผลอย่างจริงจัง และท่านอ.ปัตย์ก็จะเป็น Master ใน “ท่า” นี้ นี่แหละ ที่จะมาตีคู่กันกับ “ท่าปกติ” (ตามที่เรามักเรียกกัน)
    และถ้ามี เยอะๆ “ท่า” เยอะ Master
    ตรงนี้จะประเสรฺิฐสุดยอดโรงเรียนสถาปัตย์ ในทรรศนะผมครับ
    นักเรียนก็จะเริ่ม ดูที่ Subjective มากกว่า “แบบ” หรือ Objective ที่เสมือนเป็นตัวแทนแห่งการแสดง Subject หรือแสดง “สิ่ง” ที่ต้องการนำเสนอใน Thesis เท่านั้น

    สำหรับผมนั้น นอกจากทั้งหมดข้างบนแล้ว ตัว The Profound นี้ มันต้องอาศัยพื้นฐานที่ดี คือใน The Fundamental และผสานกับ The Creativity ที่ “แหล่มเลย” ด้วย

    ส่วนเรื่องจะตรวจยังไงนั้น คงต้องไปคุยกันในเรื่องระบบอีกที (รวมถึงการเปิดโลกทัศน์ที่คณะต้องมองเน้นในความหลากหลายมากกว่า ความมีมาตรฐานเดียวเหมือนกัน)

    4… นอกจาก “ท่า” แล้ว ผมของมองจุดเริ่มต้นของThesis ทิ้งท้ายนิดครับว่า

    อย่างน้อย ตัวมันเองต้องเริ่มมาจาก”ความคิดและจินตภาพ” ของ “สิ่ง” ที่ต้องการนำเสนอก่อน (ตรงนี้ ผมเรียกมันว่า Vision of Proposal) เพราะฉะนั้น Proposal วิทยานิพนธ์ ควรจะมี Vision ที่เรียกได้ว่า เป็นจินตภาพที่ก้าวหน้า ที่เจ้าตัวอยากจะทำไปสู่ “สิ่ง” ที่ต้องการนำเสนอ

    เป็นอะไรก็ได้ครับที่เป็นของผู้ทำThesis และให้คุณค่าทางศาสตร์สถาปัตยกรรม
    ไม่ว่า”สิ่ง” ที่ต้องการนำเสนอนี้ จะพัฒนาได้มาด้วยความเชื่อ(Belief) ค่านิยม(Taste) ความสนใจลึกซึ้ง(Profound) พื้นฐาน(Fundamental) วิธีการ (Method) สมมติฐาน (Hypho-thesis) สมมติฐานล้มล้าง (Anti-Thesis) และการอนุมาน(Assumption) ใดใดก็ตาม

    ไอนสไตน์ “นำเสนอ” Thesis ป.เอกทางฟิสิกส์ของเขา ด้วยการอธิบายทฤษฎีสมการทางฟิสิกส์ โดยการจุ่มก้อนนำ้ตาลลงในถ้วยกาแฟร้อนๆ พร้อมกระดาษอธิบายThesis ประมาณ สามสี่แผ่น…!!! what a genius

    เหนื่อยครับ…และขอโทษที่ยาวไปหน่อย
    ขอพักก่อนน่ะครับ เหนื่อยจัง
    พี่คมครับ

  16. กิ๊ก Says:

    อาจารย์มองขาดหลายประเด็นเลยค่ะ
    สงสัยว่าจะต้องหาโอกาสเข้าไปคุยกับอาจารย์สันต์แล้วล่ะค่ะ ^^

    ปล อ่านบล๊อกนี้ แล้วรู้สึกอยากทำงานทุกที ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

  17. ภา (ก.ไก่ กุ๊กๆๆๆ) Says:

    หนูขอแสดงความเห็นในประเด็ฯนี้บ้างละกันนะคะ อ่านแล้วรู้สึกว่าคณะเรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนไปได้อีก

    ขอพูดในฐานะที่เหล่าอาจารย์ช่วยกันสร้าง background ทางสถาปัตย์ให้ก็แล้วกนนะคะ

    อย่างแรกเลยหนูมองว่า ท่ามาตรฐาน และท่าพิเศษ มันมีอะไรที่เหมือนกันค่ะ มันต่างกันแค่เส้นยาแดงเท่านั้น โดยในส่วนที่หนูมองว่ามันเหมือนกันก็คือการคิดแบบมีกระบวนการ ในทุกๆท่า ทุกๆความคิด มันมีลำดับการคิดของมัน ไม่ว่าจะท่าไหนมันก็ต้องอธิบายความคิดให้ได้ เพียงแต่ว่า ท่าพิเศษ ที่เราคุยกันอยู่นี้มันต้องการการเข้าใจทางความรู้สึก หรือ common sense มากกว่า

    เคยคิดเหมือนกันนะคะว่าเรากำลังเรียนอะไรอยู่ ทำไมเราต้องเรียนในสิ่งที่คนอื่นๆ(ทั่วไป)ไม่เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่นี้ แต่สุดท้ายแล้วหนูก็ได้ข้อสรุปที่ว่า ถึงแม้ว่าสิ่งที่เราเรียนอยู่นี้คนทั่วไปจะไม่รู้ว่ามันมีอยู่ แต่คนเหล่านั้นสามารถสัมผัสถึงมันได้ค่ะ มันก็เหมือนๆกับ common sense ล่ะมั้งคะ การที่เราใช้สิ่งเหล่านี้มาตัดสินไม่ได้เหรอคะ ถึงแม้ว่าเรื่องพวกนั้นเราสามารถสัมผัสได้เหมือนๆกัน

    ความเป็นไปได้ของโครงการ ไม่ว่าจะโครงการแบบไหน ถ้าเราไม่อิงสิ่งที่เรียกว่า ทุนนิยม มันคงเป็นไปได้มากมายหลายโครงการเลยค่ะ สิ่งที่เราควรคิดถึงตอนนี้ในสังคมเรา เราควรจะหันกลับมามองเรื่องเล็กๆน้อยบ้าง(user กลุ่มน้อย) หมายถึงการพัฒนาทางเรื่องเล็กทีละเรื่องมันจะทำให้สังคมที่เราอยู่ดีขึ้น ขอยกตัวอย่าง ทีสิส เพื่อน ที่เป็นเรื่องเพศหน่อยก็แล้วกันนะคะ ยอมรับว่าชื่นชมเลยค่ะ ที่เพื่อนเค้ามีความคิดดีๆที่จะพัฒนาคนกลุ่มเล็กๆ หนูมองว่ามันไม่จำเป็นต้องให้คนเข้าในโครงการมากมาย แต่ถ้าคนจะเข้าเยอะก็นับว่าเป็นกำไร(ที่ไม่ใช่ค่าเงินนะคะ) แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าคณะเราจะมองแต่เพียงว่าโครงการใหญ่(พืนที่มาก)เป็นโครงการที่ดีกว่าโครงการพวกนี้ แล้วใช้คำว่าเป็นความเป็นไปได้มาตัดสิน ก็ดูเป็นการคิดที่ใจร้ายมากๆเลยค่ะ อย่างนี้นับวันคงจะทำให้เหลือน้อยคนที่คิดจะเพื่อคนอื่น

    ส่วนในเรื่องการใช้เทคนิคทางเทคโนโลยีที่กำลังจะมาเกินไปก็เห็นด้วยกับอาจารย์นะคะว่าคณะเราควรจะลดลงบ้าง หนูเชื่อว่าการเขียนกระดาษมันย่อมดีกว่าแน่นอนค่ะ แต่เรื่องนี้มันก็แล้วแต่คนถนัดเหมือนกัน ทางที่ดีควรจะสอนมากกว่าค่ะว่าเราต้องใช้มันเป็นเหมือนดินสอของเรา แค่นั้นเอง

    ในส่วนสุดท้ายหนูเชื่อว่าเพื่อนๆกำลังทำ ทีสิส อย่างแข็งขันกันอยู่ ไม่มีใครยอมแพ้ก่อนถึงเวลาแน่นอนค่ะ และจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ถ้าเรามีอาจารย์เดินไปกับเราค่ะ

  18. studiospaces Says:

    ดีใจที่เห้นปี 5 เข้ามาอ่านและร่วมแสดงความคิดเห็นค่ะ

    ขอฝากถึงความคิดเห็นข้างบนว่า ทางเดินในคณะออกจะกว้างขวาง..บางทีมันก็ต้องมีเดินสวนทางกันบ้าง 🙂

    brickbrick

  19. studiospaces Says:

    คมคายมากครับ BrickBrick…
    โอว อยากให้ยกมาถกกันด้านนอกเวที Virtual จังเลย
    ว่าไหม

  20. 4617041 Says:

    อ่านแล้ว คิดถึงบรรยากาศในคณะจังเลยครับ


ส่งความเห็นที่ brickbrick ยกเลิกการตอบ